ศาลาเฉลิมไทย เป็นอาคารพิเศษที่มีความแข็งแรง มั่นคง และจะอยู่ได้อีกเป็น ๑๐๐ ปี แต่สถานที่ตั้งของอาคารได้ไปบดบังทัศนียภาพของวัดราชนัดดารามวรวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโลหะปราสาท มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก ซึ่งเป็นมรดกสืบทอดความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติ และบริเวณนี้เปรียบเสมือนประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์ สมควรส่งเสริมทัศนียภาพของโลหะปราสาทให้ปรากฏแก่สาธารณชน โดยการรื้อถอนอาคารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี ขอซื้อที่ดินและอาคารจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเงิน ๑๑๓ ล้านบาท เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขายที่ดินและอาคารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยให้กับรัฐบาล และผู้เช่าคือบริษัทศิลป์ไทยหมดอายุสัญญาเช่า เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๐ และได้ย้ายออกจากอาคารโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๒ แล้ว
คณะกรรมการจัดงาน “ละครอนุสรณ์เฉลิมไทย” ได้ขอใช้อาคารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย จัดละครเวทีอำลาศาลาเฉลิมไทย เพื่อรำลึกถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ของการแสดงละคร ให้ประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทย จึงจัดละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ เป็นอนุสรณ์อำลาโรงภาพยนตร์ ในระหว่างวันที่ ๑ กุมภาพันธ์-๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ รายได้จากการแสดง โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิสายใจไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
การดำเนินงานรื้อถอนอาคารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยเริ่มในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ โดยบริษัทแทคทีม จำกัด ใช้เวลาทั้งสิ้น ๒ เดือน เมื่อเสร็จสิ้นการรื้อถอนแล้วกรมธนารักษ์ได้ส่งมอบพื้นที่โครงการให้กรมศิลปากรในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๒ กรมศิลปากรจึงได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ ตามโครงการปรับปรุงที่ดินบริเวณอาคารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยตามที่ได้รับมอบหมายดังนี้
๑. ที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เนื่องจากทรงสถาปนาวัดราชนัดดารามวรวิหาร และโลหะปราสาท ลักษณะของพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นพระบรมรูปขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประทับพระที่นั่งกง มีแท่นฐานหินอ่อนรองรับ ๒ ชั้น ด้านหลังพระบรมรูปเป็นฉากรูปพระวิมาน อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์และพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พื้นฉากด้านหน้าเป็นหินอ่อนเรียบ ฉากด้านหลังเป็นหินอ่อนจารึกพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ลวดลายรูปพระวิมานเป็นกระเบื้องเคลือบ พื้นลานที่รองรับแท่นฐานรวมทั้งกระถางต้นไม้ตามมุมเป็นหินแกรนิต ประติมากรผู้ปั้นหล่อพระบรมรูปคือ นายสุภร ศิระสงเคราะห์
๒. ที่ตั้งของพลับพลาที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชพิธีต้อนรับราชอาคันตุกะ หรือประมุขของต่างประเทศ เนื่องจากเดิมสร้างเป็นพลับพลาที่ประทับชั่วคราว บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งไม่เป็นการสมพระเกียรติและไม่มีความสง่างาม ลักษณะของพลับพลาเป็นพลับพลาโถงจตุรมุขหลังคาลด ๒ ชั้น มีพาไลปีกนกโดยรอบ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีประดับช่อฟ้า ใบระกาหน้าบันปั้นลายปิดทอง ประดับกระจก เพดานปิดทองลายฉลุประดับดาวเพดาน เสาในเขียนลายรดน้ำ เสานอกบุหินอ่อนปั้นบัวหัวเสา และบัวตีนเสาปิดทอง พื้นเป็น ๒ ระดับ ในส่วนที่ประทับและที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้า ยกพื้นสูง ๔๕ เซนติเมตร ปูหินอ่อนทั้ง ๒ ระดับ ขนาดของพลับพลากว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๕.๕ เมตร โครงสร้างทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
๓. ศาลารายสำหรับข้าราชการแขกผู้มีเกียรติเฝ้ารับเสด็จ และร่วมพิธีจำนวน ๓ หลัง อยู่ทางทิศใต้ของพลับพลา ลักษณะเป็นศาลาโถงกว้าง ๕ เมตร ยาว ๘ เมตร หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันปั้นปูน พื้นปูหินอ่อนเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวขัดปูนดำ
๔. พื้นที่เปิดโล่งและสวนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและสร้างความร่มรื่น เนื่องจากบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ขาดพื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะพื้นลานทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูด้วยหินแกรนิต จัดเป็นที่นั่งพักผ่อนของประชาชนมีรั้วรอบบริเวณเป็นรั้วเตี้ย กรุกระเบื้องปรุเคลือบสีมีเสาประทีป และกระถางต้นไม้สลับกัน บริเวณพื้นลานจัดเป็นสวนปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สถาปนิกผู้ออกแบบผังบริเวณ รับผิดชอบการก่อสร้างพลับพลา ศาลาราย และการจัดภูมิทัศน์ คือ นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ
เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วทำให้ทัศนียภาพของโลหะปราสาทปรากฏแก่สาธารณชน และเนื่องในวโรกาส ที่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๓ ซึ่งตรงกับวันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครบ ๑๖๖ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ และได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะ ซึ่งได้พระราชทานนามใน พ.ศ.๒๕๓๕ ว่า ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
ต่อมาคณะรัฐมนตรีมติเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดให้วันที่ ๓๑ มีนาคม ทุกปีเป็นวันสำคัญของชาติ เรียกว่า “วันที่ระลึกมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” และในโอกาสวันสำคัญดังกล่าวได้เชิญชวนให้ประชาชนข้าราชการ ประกอบพิธีถวายราชสักการะด้วยพานพุ่ม ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในวันสำคัญนั้นด้วย
ขอบคุณข้อมูล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น