12.12.53

ประวัติศาลาเฉลิมไทย


ศาลาเฉลิมไทยสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๘๓ เมื่อแรกสร้างเป็นโกดังเก็บของของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาได้ให้เช่าทำโรงละคร เมื่อตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ จึงปรับปรุงตกแต่งใหม่ทั้งหมด เป็นโรงละครที่สวยงาม มีลายกระหนกไทยที่เป็นของเดิมตกแต่ง ทางขึ้นบันไดบริเวณด้านฝาผนังมีภาพประติมากรรมนูนสูง ภายในโรงละครบรรจุที่นั่ง ๑,๓๐๐ ที่นั่ง เมื่อตกแต่งเสร็จเปิดเป็นโรงละคร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้มาทำพิธีเปิด ละครเรื่องแรกที่เล่นที่ศาลาเฉลิมไทยคือ เรื่องราชันย์ผู้พิชิต ระยะแรกที่เปิดเป็นโรงละครจะมีคนมาดูละครแน่นมาก คนดูต้องมาเข้าคิวซื้อตั๋วกัน โดยเฉพาะคนจีนสมัยก่อนชอบดูละครมาก ซึ่งสมัยนั้นมีโรงละครเพียง ๒ แห่งเท่านั้น คือ ศาลาเฉลิมไทย และศิวารมย์ คนไทยจะนิยมดูรอบบ่าย ส่วนคนจีนจะนิยมดูตอนกลางคืน คือทำงานขายของเสร็จแล้ว กลางคืนก็มาดูละคร และดูในชั้นที่ราคาสูงๆ บริเวณด้านหน้าโรงละครจะมีของมาขายเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงเทศกาลขึ้นปีใหม่ก็จะตั้งเต็นท์บริเวณหน้าโรงละครและมีดารามาปรากฏตัว เช่น ล้อต๊อก ส.อาสนจินดา ฯลฯ มีตลกมาเล่นให้ดูเพื่อรอเวลาที่ละครยังไม่แสดง

คณะละครที่มาแสดงที่ศาลาเฉลิมไทยในสมัยนั้นมีหลายคณะ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของคนดูมากคือคณะอัศวิน และคณะศิวารมย์ คณะศิวารมย์จะมี สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ส.อาสนจินดา ศาลาเฉลิมไทยเปิดการแสดงละครอยู่ ๔ ปี การละครตกต่ำไม่เป็นที่นิยมของคนเท่าที่ควร ผู้จัดขาดทุนจึงเปลี่ยนจากโรงละครมาทำเป็นโรงฉายภาพยนตร์และ เป็นโรงภาพยนตร์โรงแรกของกรุงเทพฯ ที่นำระบบต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาใช้ ศาลาเฉลิมไทยจึงเป็นโรงภาพยนตร์ชั้น ๑ ทุกคนที่มาดูจะแต่งตัวสวยงาม สุภาพ เช่น ถ้าใส่เกี๊ยะมาก็จะไม่ให้เข้า ให้ถอดออกวางข้างนอกแล้วจึงเข้าไป เพราะเวลาเดินเสียงเกี๊ยะจะดังทำให้รบกวนผู้อื่น เก้าอี้นั่งในโรงภาพยนตร์ถ้ามีหมากฝรั่งติดต้องเช็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อย หรือเก้าอี้ชำรุดและทำให้เสื้อผ้าของผู้มาดูภาพยนตร์เสียหาย ทางโรงภาพยนตร์ต้องรับผิดชอบและชดใช้ให้ คนนิยมมาดูภาพยนตร์กันมาก คนที่มาดูภาพยนตร์ที่เฉลิมไทยต้องตั้งใจมาดูโดยเฉพาะ เพราะผู้มาดูส่วนใหญ่จะจองตั๋วล่วงหน้า ถ้ามาซื้อที่หน้าโรงตามเวลาฉายภาพยนตร์จะไม่มีตั๋ว หรือมีก็ได้ที่นั่งไม่ถูกใจ อัตราค่าตั๋วมีราคา ๕ ๗ ๑๐ ๑๒.๕๐ และ ๑๖ บาท ต่อมา ๕ บาทไม่มี เปลี่ยนเป็น ๑๐ ๑๖ ๒๐ ๒๕ บาท แล้วเปลี่ยนเป็น ๒๐ ๒๕ ๓๐ ๔๐ บาท และเปลี่ยนอีกเป็น ๒๐ ๓๐ ๔๐ และ ๕๐ บาท ภาพยนตร์ที่มาฉายที่เฉลิมไทยระยะแรกๆ จะเป็นภาพยนตร์จากต่างประเทศ และคัดเลือกภาพยนตร์ที่ดีๆมาฉาย เช่น เรื่องคลีโอพัตรา พิชิตตะวันตก ดร.ชิวาโก แด่คุณครูด้วยดวงใจ แดร็กคูล่า เฉลิมไทยยุคนั้นรุ่งเรืองมากจนได้ขยายกิจการคำว่า “เฉลิมไทย” ไปเปิดโรงภาพยนตร์ที่ต่างจังหวัด เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครราชสีมา

ต่อมาทางบริษัทผู้ฉายภาพยนตร์เห็นว่าโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยไม่เหมาะที่จะฉายภาพยนตร์ต่างประเทศ เฉลิมไทยควรจะช่วยเหลือภาพยนตร์ไทยด้วยกัน จึงนำภาพยนตร์ต่างประเทศไปฉายที่โรงภาพยนตร์แถวสยามสแควร์และ นำภาพยนตร์ไทยมาฉายที่เฉลิมไทย ดังนั้น ใน พ.ศ.๒๕๑๑ จึงเริ่มฉายภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ฉายที่เฉลิมไทย คือ เรื่องเป็ดน้อย ต่อมาได้ฉายภาพยนตร์ไทยซึ่งทำรายได้ดีมาตลอด เช่นเรื่องทอง และรักริษยา ระยะหลังรายได้จากการฉายภาพยนตร์ทรุดลง เนื่องจากมีวิดีโอเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทย แต่ถึงกระนั้นถ้ามีภาพยนตร์ไทยที่ดีๆมาฉายก็ยังทำรายได้ดีเหมือนเดิม



....................


ขอบคุณข้อมูล
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=4167&stissueid=2659&stcolcatid=9&stauthorid=10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น